เปิดตัว โหนด Food Valley สวก. หนุน ราชภัฏสวนสุนันทา ยกระดับและความยั่งยืนของอาหารเชิงหน้าที่และอาหารเพื่อความปลอดภัย

นางสาวกุลวรา  โชติพันธุ์โสภณ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.)  เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงาน โหนด Food Valley" การพัฒนาโมเดลการบริหารจัดการงานวิจัยอาหารเชิงหน้าที่ และอาหารเพื่อความปลอดภัยมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา" ณ คณะวิทยาการจัดการ บริเวณโถงใต้อาคาร 57 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. มีวิสัยทัศน์ว่า “สวก. เป็นผู้นำในการบริหารการวิจัยการเกษตร เพื่อสร้างความเข้มแข็งของภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน” มีพันธกิจในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการวิจัยการเกษตร พัฒนานักวิจัยการเกษตรมืออาชีพเพิ่มขึ้น และมีระบบเชื่อมโยงข้อมูลงานวิจัยด้านการเกษตรที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้  RAINS for Thailand Food Valley มีขอบเขตและหลักการดำเนินงานวิจัยในแต่ละภาค 
โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาอยู่ในภาคกลาง เป้าหมาย คือ เป็นศูนย์กลางเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารกลุ่ม Functional food และ Safety  food และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ซึ่งมีกรอบการดำเนินงานกว้างๆ ได้แก่ การศึกษาและสรุปสถานการณ์อุตสาหกรรมอาหาร ของแต่ละพื้นที่ ในเรื่องศักยภาพ ความพร้อมของ Infrastructure แนวโน้ม ตลาดอุตสาหกรรมอาหาร กำหนดกรอบวิจัยและพัฒนา ที่เห็นชอบร่วมกันระหว่าง 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา การนำผลงานวิจัยที่ได้ไปสู่การทดลองเพื่อการขยายผลใช้ประโยชน์จริง ประเมินผล และปรับปรุงเพื่อให้ได้เป็นต้นแบบ (Model) ขยายผลสู่พื้นที่เป้าหมาย และเชื่อมโยงเครือข่ายในแต่ละภูมิภาค ซึ่งเป้าประสงค์หรือผลผลิตจากการดำเนินงาน คือการได้เครือข่ายและต้นแบบ RAINS ของแต่ละภูมิภาค ได้
ทั้งนี้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สามารถแก้ไขและพัฒนาระบบอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทย ได้เทคโนโลยี นวัตกรรม และต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพและการผลิตที่มีคุณภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการ มีความปลอดภัย ได้มาตรฐานในระดับสากล เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่า คุ้มทุนและมีความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์
"ในการจัดการเปิดตัวโหนด Food Valley ครั้งนี้ รู้สึกได้ถึงความตั้งใจของคณะผู้จัดงาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโหนด Food Valley และโครงการวิจัยภายใต้แผนงานการพัฒนาโมเดลการบริหารจัดการงานวิจัยอาหารเชิงหน้าที่ และอาหารเพื่อความปลอดภัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จะเป็นที่รู้จักของประชาคมมากยิ่งขึ้น ขอขอบคุณคณะผู้ดำเนินงาน กับผู้เกี่ยวข้องในการจัดงานทุกท่าน และขอให้การจัดงานในครั้งนี้ บรรลุตามวัตถุประสงค์ของการจัดงานทุกประการ" นางสาวกุลวรา กล่าว
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ มรกต วรชัยรุ่งเรือง รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและเผยแพร่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่า ปัจจุบันเรามีเวลาเตรียมอาหารเพื่อรับประทานในแต่ละมื้อน้อยลงโดยเฉพาะในสังคมเมือง และยังมีการนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการผลิตอาหารอย่างหลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และสามารถยืดอายุการเก็บรักษาไว้ได้นานขึ้น แต่ในขณะที่เทคโนลยีกำลังเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว ปัญหาใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นตามมาด้วย เช่น ความไม่ปลอดภัยของอาหาร และการปนเปื้อน  ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพผู้บริโภคที่แตกต่างกัน ตั้งแต่เกิดการเจ็บป่วยเล็กน้อยจนถึงขั้นรุนแรงเสียชีวิต ดังนั้นการรับประทานอาหารที่มีคุณค่าจะทำให้ร่างกายเจริญเติบโต ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและช่วยเสริมภูมิต้านทานโรคให้แก่ร่างกาย  
อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานเพื่อความปลอดภัยและการเพิ่มคุณค่าของอาหาร จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบ รวมถึงผู้บริโภค ซึ่งทุกคนต้องตระหนักถึงสิทธิความรับผิดชอบและหน้าที่ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นในการเข้าร่วมเป็นศูนย์กลางเพื่อการพัฒนา “อาหารเพื่อความปลอดภัยและมีคุณค่าของคนเมือง” ภายใต้แนวคิด 6 G คือ Global Safety (อาหารปลอดภัยระดับสากล), Good Ingredient(ส่วนผสมดี), Grow Organic (ผลิตด้วยเกษตรอินทรีย์), Go Innovation (ใช้นวัตกรรมเพื่อการผลิต), Good Taste (รสชาติดี), Go Circular Eco (เพิ่มมูลค่าของผลผลิต) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ในการดำเนินงานเฟสแรกของโครงการแผนงานการพัฒนาโมเดลการบริหารจัดการงานวิจัยอาหารเชิงหน้าที่และอาหาร เพื่อความปลอดภัย เพื่อยกระดับและความยั่งยืนของอาหารเชิงหน้าที่และอาหารเพื่อความปลอดภัย
"คนในเมืองมีทางเลือกในการบริโภคอาหารค่อนข้างน้อย เรื่องนี้ทำให้ สวก. ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา โดยสถาบันวิจัยและพัฒนา ได้รับงบประมาณ สนับสนุนให้บริหารจัดการในส่วนของการผลิตงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับอาหารเพื่อความปลอดภัย และเป็นอาหารเชิงหน้าที่ภายใต้บริบทของคนเมือง ภายใต้บริบทดังกล่าวมีโครงการย่อย 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการสาหร่ายสไปรูลิน่า โครงการโปรตีนไฮโดรไลเซทจากการเต้าหู้ และโครงการการผลิตปูนาปลอดปรสิต ทั้ง 3 โครงการสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการที่ต้องการเพิ่มทางเลือกในการบริโภคให้กับคนเมือง โดยเฉพาะคนกรุงเทพมหานครให้มีอาหารที่ปลอดภัย มีรสชาติดี และมีคุณประโยชน์" สำหรับผู้สนใจผลงานและผลิตภัณฑ์งานวิจัยดังกล่าวจากงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ครั้งนี้ หรือผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยอื่นๆ สามารถ ศึกษาหรือรับข้อมูลเพิ่มเติมจาก สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้ที่ www.ird.ssru.ac.th หรือ www.ssru.ac.th ผู้ช่วยศาสตราจารย์มรกต กล่าว
Post a Comment (0)
Previous Post Next Post