มกอช. ปลื้มคว้ารางวัลองค์กรเกียรติยศ จากการขับเคลื่อน “โครงการ Q Restaurant” ตอบโจทย์ผู้บริโภคด้านความปลอดภัยอาหาร พร้อมยกระดับเกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย
นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช. ได้รับรางวัลองค์กรเกียรติยศ จากโครงการร้านอาหารวัตถุดิบปลอดภัย เลือกใช้สินค้า Q (Q Restaurant) ปี 2565 ซึ่งมีนางสาวพจนา เหลือโกศล ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการพิเศษ กองนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการ ในงานหอเกียรติยศ วุฒิสภา ที่มีนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง เป็นประธาน ณ อาคารรัฐสภา โดยคณะกรรมาธิการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ที่บริหารงานโดยยึดหลักคุณธรรม จริยธรรม เป็นองค์กรที่เสริมสร้าง คนดี คนเก่งคนกล้ำ และโอกาสสู่สังคมเพื่อพัฒนาชาติไทยอย่างยั่งยืน
นายพิศาล กล่าวว่า การดำเนินโครงการร้านอาหารวัตถุดิบปลอดภัย เลือกใช้สินค้า Q (Q Restaurant) สืบเนื่องจากปัจจุบันเทรนด์อาหารสุขภาพกำลังเป็นที่นิยมทั่วโลก เพราะผู้คนใส่ใจกับสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้าปลอดภัยเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ร้านอาหารเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการจำหน่ายสินค้าเกษตรปลอดภัย (สินค้า Q) เพื่อเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหาร และเพื่อให้ผู้บริโภคจำนวนมากที่อาจไม่มั่นใจว่าร้านอาหารที่รู้จักและมีรสชาติอร่อยนั้น มีร้านใดบ้างที่ใช้วัตถุดิบที่ได้มาตรฐาน ปลอดภัยต่อผู้บริโภค
ที่ผ่านมา มกอช. ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งจากผู้ประกอบการร้านอาหารหลายๆ ร้านจากทั่วประเทศ ที่สมัครเข้าร่วมโครงการ Q Restaurant และจากสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ที่เป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อนโครงการ Q Restaurant ในระดับภูมิภาค ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้มีแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัย ได้มาตรฐาน และสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค โดยตั้งแต่ปี 2553 จนถึง ปัจจุบันมีร้าน Q Restaurant ทั่วประเทศ 3,153 ร้าน
นอกจากนี้ มกอช. ยังได้พัฒนายกระดับคุณภาพร้านอาหารสู่วิถีชีวิตใหม่ ภายใต้ BCG Model เพื่อเป็นการพัฒนายกระดับร้านอาหาร Q Restaurant ให้เป็นร้านอาหาร Q ระดับพรีเมี่ยม ซึ่งปัจจุบันมีร้านอาหารที่ได้รับการรับรอง 68 ร้าน ใน 15 จังหวัด
“Q Restaurant ถือเป็นตัวเลือกหนึ่งที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในเรื่องความปลอดภัยอาหาร รวมทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์การใช้วัตถุดิบปลอดภัยในร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งสามารถใช้เป็นจุดขายของร้าน ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในคุณภาพอาหาร อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในการยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรโดยนำส่งวัตถุดิบปลอดภัยให้แก่ร้านอาหาร ซึ่งนับเป็นการส่งเสริมและผลักดันการนำมาตรฐานไปสู่การปฏิบัติตลอดห่วงโซ่การผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ”เลขาธิการ มกอช. กล่าว