ลองกองปีนี้ ให้ผลผลิต 6 หมื่นตัน ออกตลาดมากในเดือนกันยายน - ตุลาคมนี้ รวมกว่า 4.6 หมื่นตัน

นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ไม้ผลลองกองทั้งประเทศ ในปี 2566 ซึ่งจากข้อมูลพยากรณ์ของ สศก. (ณ 16 สิงหาคม 2566) คาดว่า ปีนี้ เนื้อที่ให้ผล 161,441 ไร่ ลดลงจากปีที่แล้วที่มีเนื้อที่ให้ผล 193,350 ไร่ (ลดลง 31,909 ไร่ หรือร้อยละ 16.50)  ผลผลิต 62,272 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ให้ผลผลิต 42,264 ตัน (เพิ่มขึ้น 20,008 ตัน หรือร้อยละ 47.34) ผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผล 386 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ให้ผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผล 219 กิโลกรัมต่อไร่  (เพิ่มขึ้น 167 กิโลกรัมต่อไร่ หรือร้อยละ 72.26) ทั้งนี้ เนื้อที่ให้ผลคาดว่าลดลงทุกภาค เนื่องจากเกษตรกรทยอยโค่นต้นลองกองออกเพื่อปลูกทุเรียนทดแทน หรือสางออกในสวนผสมเพื่อให้มีช่องว่างระหว่างต้นทุเรียนให้ได้รับแสงแดดสังเคราะห์แสงได้ดีขึ้น โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกลองกองเป็นพืชแซม เก็บเกี่ยวขายผลผลิตเป็นผลพลอยได้ รวมทั้งขาดแคลนแรงงานในการแต่งช่อลองกองและเก็บเกี่ยวผลผลิต ประกอบกับความต้องการของตลาดปลายทางที่ส่งออกไปตลาดหลักในเวียดนามน้อยลง 
ขณะที่ผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผลคาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากแหล่งผลิตสำคัญทางภาคใต้ สภาพอากาศเอื้ออำนวยกว่าปี 2565 ซึ่งมีฝนตกต่อเนื่องไม่มีช่วงแลงเพียงพอใหลองกองออกดอก แต่ปี 2566 คาดว่าจะมีช่วงแล้งก่อนออกดอก มีปริมาณน้ำฝนเพียงพอ อุณหภูมิไม่ร้อนจัดในช่วงออกดอกและติดช่อ โดยภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตทางภาคใต้   
หากพิจารณาเป็นรายภาค ภาพรวมพบว่า ภาคเหนือ เนื้อที่ให้ผลลดลง เนื่องจากเกษตรกรโค่นต้นลองกองอายุมากให้ผลผลิตน้อย และเปลี่ยนปลูกทุเรียนซึ่งให้ผลตอบแทนดีกว่า ผลผลิตรวมคาดว่าลดลง เนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ฝนทิ้งช่วง ปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของลำต้น และอุณหภูมิร้อนจัดในช่วงออกดอกและติดช่อ ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตน้อยกว่าปีที่ผ่านมา โดยผลผลิตภาคเหนือเริ่มเก็บเกี่ยวในเดือนกรกฎาคมถึง พฤศจิกายน 2566 (ร้อยละ 32 ของผลผลิตทั้งประเทศ)
ภาคกลาง เนื้อที่ให้ผลลดลง เนื่องจากเกษตรกรทยอยโค่นต้นลองกองออกเพื่อปลูกทุเรียนทดแทน หรือสางออกในสวนผสมเพื่อให้มีช่องว่างระหว่างต้นทุเรียนให้ได้รับแสงแดดสังเคราะห์แสงได้ดีขึ้น  โดยผลผลิตลองกองปีนี้จะมีหลายรุ่น ผลผลิตลองกองภาคกลางเริ่มเก็บเกี่ยวมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเมษายนถึงเดือนตุลาคม 2566 (ร้อยละ 12 ของผลผลิตทั้งประเทศ)

ภาคใต้ เนื้อที่ให้ผลลดลง เนื่องจากปัญหาราคาลองกองตกต่ำอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรจึงโค่นลองกองที่ปลูกเป็นพืชแซมออกตลอดทุกปี เพื่อดูแลพืชหลัก เช่น ทุเรียน ซึ่งให้ผลตอบแทนดีกว่า ผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผลและผลผลิตรวมเพิ่มขึ้น เนื่องจากปี 2566 คาดว่าสภาพอากาศเอื้ออำนวยมากกว่า มีช่วงแล้งก่อนออกดอก มีปริมาณน้ำฝนเพียงพอ อุณหภูมิไม่ร้อนจัดในช่วงออกดอกและติดช่อ ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตเพิ่มขึ้น แม้ว่าบางแหล่งผลิต เช่นจังหวัดชุมพร จะกระทบแล้งหลังการออกดอกในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2566 ทำให้ดอกร่วง และบางส่วนยืนต้นตาย โดยผลผลิตลองกองภาคใต้จะเก็บเกี่ยวได้ในเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม 2566 และในเดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม 2566 (ร้อยละ 55 ของผลผลิตทั้งประเทศ) 
ทั้งนี้ ภาพรวมผลผลิตลองกองในประเทศ จะออกมากที่สุดในเดือนกันยายนและตุลาคม 2566 รวมจำนวน 46,696 ตัน (ร้อยละ 75 ของผลผลิตทั้งประเทศ)  แบ่งเป็นกันยายน ผลผลิตออกประมาณ 24,860 ตัน (ร้อยละ 40 ของผลผลิตทั้งประเทศ) และตุลาคม ประมาณ 21,836 ตัน (ร้อยละ 35 ของผลผลิตทั้งประเทศ)  โดยส่วนใหญ่ เป็นผลผลิตของภาคใต้และภาคเหนือ
โอกาสนี้ ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมสนับสนุนผลผลิตลองกองของเกษตรกร ซึ่งออกสู่ตลาดมากในเดือนกันยายนและตุลาคมนี้ นอกจากช่วยสนับสนุนเกษตรกร เป็นกำลังใจให้พี่น้องเกษตรกรในการผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพแล้ว ยังช่วยกันร่วมสร้างเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้แข็งแกร่งอย่างยั่งยืนอีกด้วย 
Post a Comment (0)
Previous Post Next Post