กรมประมงนำร่องดัน “ปลากะพงทอง ปลิงทะเล ปูทะเล” ขึ้นแท่นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ ตั้งเป้าสร้างแหล่งผลิตวัตถุดิบคุณภาพด้วยมาตรฐานระดับสากล เสริมรายได้ให้เกษตรกรไทยด้วยการผลิตสินค้าสัตว์น้ำมูลค่าสูง เล็งเจาะตลาดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร - โรงแรม ด้วยการป้อนวัตถุดิบคุณภาพ ด้วยกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมนำไปเสิร์ฟเป็นเมนูที่เพิ่มมูลค่าด้วยรสชาติที่โดดเด่น ช่วยยกระดับสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวในธุรกิจร้านอาหารไทย
นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงหนึ่งในหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำควบคู่ไปกับการส่งเสริมอาชีพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้เกษตรกรไทย มีความมุ่งมั่นดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างอาชีพเสริมรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวประมง โดยเฉพาะการยกระดับมาตรฐานสินค้าประมงด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ในผลงานวิจัยเพื่อพัฒนาสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ที่สามารถจำหน่ายได้ราคาสูงเข้าสู่ตลาดที่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในปี 2567 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตั้งเป้าหมายสร้างรายได้เข้าประเทศ 3 ล้านล้านบาท ด้วยการดึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้าไทย 35 ล้านคน
กรมประมงได้เล็งเห็นโอกาสในช่องทางดังกล่าว จึงได้สำรวจความต้องการของตลาดทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย จากทั้งในและต่างประเทศ และดำเนินการคัดเลือกสัตว์น้ำเศรษฐกิจนำร่อง 3 ชนิด ได้แก่ “ปลากะพงทอง ปลิงทะเล ปูทะเล” มาดำเนินการส่งเสริมและต่อยอดเป็นวัตถุดิบคุณภาพ สำหรับปรุงเป็นเมนูอาหารที่มีความโดดเด่นทั้งด้านรูปลักษณ์ รสชาติ กลิ่น และสีสัน ซึ่งจะช่วยยกระดับวัตถุดิบธรรมดาให้กลายเป็นวัตถุดิบที่มีมูลค่าเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากยิ่งขึ้น โดยได้ส่งเสริมความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำดังกล่าว ให้คำแนะนำและติดตามผลการเลี้ยงอย่างใกล้ชิดเพื่อสร้างผลผลิตให้ได้ปริมาณรองรับความต้องการของตลาด พร้อมผลักดันให้เข้าสู่มาตรฐานเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลกมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้กรมประมงได้พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านการปรุงอาหาร อาทิ การร่วมกับสถาบันศิลปะการอาหาร The V School กรุงเทพฯ วางแนวทางการพัฒนาเมนูอาหารเพื่อยกระดับคุณภาพอาหารทะเลของไทย ด้วยการสร้างเมนูอาหารที่ดึงดูดคุณค่าของวัตถุดิบออกมาผ่านเมนูแปลกใหม่เพื่อกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภค สำหรับสัตว์น้ำทั้ง 3 ชนิด มีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป ดังนี้
ปลากะพงทอง หรือ อังเกย : ปลาทะเลที่พบได้ในทะเลฝั่งอันดามัน บริเวณภูเก็ต กระบี่ และพังงา มีลักษณะเด่นที่ลำตัวสีเหลืองทอง มีจุดสีดำใหญ่บริเวณลำตัวปัจจุบันศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งภูเก็ต (ศพช.ภูเก็ต) สามารถเพาะพันธุ์ปลากะพงทองได้สำเร็จ และมีการผลิตลูกพันธุ์ออกจำหน่ายให้เกษตร ในราคาตัวละ 20 บาท เลี้ยงได้ทั้งในกระชังบริเวณชายฝั่งทะเลและในบ่อดิน โดยให้กินปลาสดหรืออาหารเม็ด วันละ 1– 2 มื้อ ใช้ระยะเวลาการเลี้ยง ประมาณ 10 – 12 เดือน สามารถทยอยจับขายได้ปลากะพงทอง มีโปรตีนและกรดไขมันในกลุ่มโอเมก้า 3 สูง อีกทั้งมีเนื้อที่แน่น รสชาติดี ปรุงเมนูไหนก็อร่อย โดยเฉพาะนึ่งซีอิ๊ว ต้มยำ แกงส้ม และซาซิมิ ฯลฯ เป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ อีกทั้งเกษตรกรจำหน่ายได้ราคาเป็นที่พอใจ โดยเฉลี่ยราคาขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 200 – 250 บาท ปัจจุบันกรมประมงได้มีการตั้งจุดสาธิตการเลี้ยงปลากะพงทองและการจัดฝึกอบรมการเพาะเลี้ยงปลากะพงทอง เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกษตรกรได้นำความรู้ไปปรับใช้ในการเพาะเลี้ยงปลากะพงทองเชิงพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น
ปลิงขาว : ปลิงทะเลที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมไปด้วยโปรตีนและคอลลาเจน คนจึงนิยมนำมาบริโภค และใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยาและอาหารเสริม ราคาขายปลิงสด กิโลกรัมละ 250 – 500 บาท และแบบตากแห้งราคาขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 1,500 – 5,000 บาท ปลิงชนิดนี้ พบอาศัยอยู่หน้าดินบริเวณแนวชายฝั่งทะเล ประเทศไทยพบมากในแนวหญ้าทะเลชายฝั่งทะเลอันดามันแถวพังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ทั้งนี้ ปลิงทะเล มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศของท้องทะเล เพราะทำหน้าที่ช่วยลดสารอินทรีย์ในระบบห่วงโซ่อาหาร โดยปลิงทะเลจะใช้หนวดจับตะกอนดินที่มีสารอินทรีย์ปะปนอยู่เข้าสู่ทางเดินอาหารแล้วดูดซับสารอินทรีย์ไว้ หลังจากนั้นจึงขับถ่ายออกมาเป็นตะกอนดินที่สะอาด ซึ่งช่วยลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ จึงได้ดำเนินการเพาะพันธุ์ “ปลิงขาว” โดยสามารถผลิตลูกพันธุ์ปลิงขาวได้สำเร็จและมีแผนปล่อยลูกปลิงขาวคืนสู่ธรรมชาติ ควบคู่ไปกับการจำหน่ายลูกพันธุ์ให้เกษตรกร โดยผลิตขนาด 2 เซนติเมตรซึ่งเป็นขนาดที่เหมาะสมต่อการนำไปเลี้ยงต่อในบ่อดิน และจำหน่ายให้เกษตรกรในราคาตัวละ 5 บาท โดยใช้ระยะเวลาการเลี้ยงประมาณ 12 เดือน จะได้ขนาด 300 – 500 กรัม ซึ่งเป็นขนาดที่เป็นที่ต้องการของตลาดเพื่อจับขึ้นจำหน่ายให้กับร้านอาหารหรือโรงแรมได้
ปูขาว หรือ ปูทองหลาง เป็นปูทะเลที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ราชินีปู” ถือเป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยลักษณะเด่น คือ ตัวใหญ่ ก้ามโต เนื้อแน่น รสชาติหวานมัน ไม่มีกลิ่นโคลน สามารถนำไป แปรรูปเป็นเมนูได้หลากหลาย อาทิ ปูนึ่ง ปูผัดผงกะหรี่ หลนปู ฯลฯ ส่งผลให้เป็นที่นิยมของผู้บริโภค โดยราคาขายปูไข่ในตลาดขนาด 300 - 500 กรัมราคา 500 - 800 บาท ต่อกิโลกรัม ส่วนปูเนื้อขนาด 400 - 700 กรัม ราคา 300 - 600 บาท ต่อกิโลกรัม อย่างไรก็ตาม เนื่องจากราคาขายสูง บวกกับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นของผู้บริโภค ทำให้ปูทะเลถูกจับขึ้นมาเป็นจำนวนมากธรรมชาติไม่สามารถผลิตได้ทัน กรมประมงได้มอบหมายให้กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ดำเนินการเพาะขยายพันธุ์ปูทะเล และปล่อยคืนสู่ท้องทะเลเพื่อฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ ควบคู่ไปกับการจัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ถ่ายทอดองค์ความรู้และให้คำแนะนำส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาเพาะเลี้ยงปูทะเล ด้วยจุดเด่นของการเลี้ยงปูทะเลที่ต้นทุนไม่สูงมาก ขั้นตอนการเลี้ยงไม่ยุ่งยาก ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 70-90 วัน สามารถจับขายได้ ปัจจุบัน กรมประมงได้ผลักดันให้เกษตรกรที่มีบ่อปลา/บ่อกุ้งร้าง หันมาทำเป็นบ่อเลี้ยงปูทะเล เพื่อยกระดับรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่เศรษฐกิจฐานรากทั้งระดับครัวเรือนและชุมชน อีกทั้ง ยังมีส่วนในการขยายมูลค่าการค้าปูทะเลของไทยให้เพิ่มสูงขึ้น
รองอธิบดีกล่าวในตอนท้ายว่า การพัฒนาทักษะในสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเพื่อสร้างโอกาสในการขยายช่องทางตลาดใหม่ๆ ให้เกษตรกร เป็นหนึ่งในนโยบายที่กรมประมงให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับตัวผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแล้ว ยังเป็นการสร้างรายได้เพื่อให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตกรมประมงยังมุ่งมั่นที่จะผลักดันการพัฒนาสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ เพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดรองรับความต้องการของผู้บริโภคต่อไป สำหรับผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เบอร์โทรศัพท์. 02 – 579 -2422