มกอช. รุกยกระดับการผลิต “ส้มโอชัยนาท” สู่มาตรฐานสินค้าเกษตรและสินค้า GI พื้นที่แปลงใหญ่ พร้อมหนุนใช้ระบบ QR Trace on cloud สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค เตรียมดันสู่ตลาดส่งออก

นางสาวปรียานุช ทิพยะวัฒน์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาการสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเกษตรในพื้นที่แปลงใหญ่สู่เกษตรมูลค่าสูง จังหวัดชัยนาท เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการมาตรฐานสินค้าเกษตรและการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) และชี้แจงกฎระเบียบเงื่อนไขและข้อกำหนดในการส่งออกส้มโอไปยังต่างประเทศ โดยมีนายกิตติเกษม นิ่มสะอาด ผู้อำนวยการกองควบคุมมาตรฐาน กล่าวรายงาน  และมีวิทยากรจากสำนักงานพาณิชย์จังหวัดชัยนาท สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 และ มกอช. รวมถึงผู้เข้าร่วมการสัมมนาซึ่งเป็นเกษตรกรที่ปลูกส้มโอในพื้นที่แปลงใหญ่ของจังหวัดชัยนาทและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องจำนวน 150 คน  ณ โรงแรมแฟนตาซี รีสอร์ท จังหวัดชัยนาท
นางสาวปรียานุช ทิพยะวัฒน์ กล่าวว่า มกอช. ได้ขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและยกระดับสินค้าเกษตรด้วยการมาตรฐาน รวมถึงนโยบาย "ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้" และเล็งเห็นว่าส้มโอขาวแตงกวาเป็นผลไม้ที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดชัยนาท มีอัตลักษณ์จนได้รับการขึ้นทะเบียน GI เป็นที่นิยมของผู้บริโภค สามารถเปิดตลาดผลไม้ในต่างประเทศได้ รวมถึงยังมีศักยภาพที่จะพัฒนาให้เป็นสินค้าเกษตรตามนโยบาย 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ซึ่ง มกอช. ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท มีความตั้งใจที่จะพัฒนาการผลิตส้มโอให้เข้าสู่มาตรฐานเพื่อสร้างความปลอดภัยตามความต้องการของตลาดและได้ส่งเสริมให้เกษตรกรนำเครื่องหมายรับรองมาตรฐานมาแสดงบนสินค้า รวมถึงนำระบบตามสอบสินค้า QR Trace on cloud มาให้เกษตรกรใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารข้อมูลแหล่งผลิตและการรับรองมาตรฐานของสินค้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค 
อีกทั้ง เมื่อเดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา มกอช. ได้มีการเจรจาร่วมกับหน่วยงานของประเทศญี่ปุ่นเพื่อเปิดตลาดการส่งออกส้มโอสายพันธุ์อื่นของไทย ซึ่งจากเดิมที่อนุญาตให้นำเข้าเฉพาะส้มโอพันธุ์ทองดีเท่านั้น และผลการประชุมมีข้อสรุปว่าประเทศญี่ปุ่นจะพิจารณายกเลิกมาตรการจำกัดสายพันธุ์ในการนำเข้าส้มโอของประเทศไทย รวมถึงประเทศสหรัฐอเมริกาได้อนุญาตให้นำเข้าส้มโอทุกสายพันธุ์จากประเทศไทยแล้วด้วยเช่นกัน นอกจากนี้การส่งออกส้มโอไปจำหน่ายยังต่างประเทศจำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของประเทศคู่ค้าและได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร
“การสัมมนาในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเกษตรกรจังหวัดชัยนาทในการพัฒนาส้มโอให้มีคุณภาพมาตรฐาน มีความปลอดภัยและมีศักยภาพเป็นสินค้าเกษตรมูลค่าสูงประจำจังหวัดชัยนาทต่อไป” รองเลขาธิการ มกอช.

Post a Comment (0)
Previous Post Next Post