วธ.โดยสศร.ลุยปั้น“เด็ก อวด + ดี” รุ่นแรก เข้ารอบคัดเลือก 14 โครงการ เดินหน้าติวเข้มพัฒนาศักยภาพศิลปะร่วมสมัยพร้อมบ่มเพาะคุณธรรม-จิตอาสา เตรียมเฟ้น 3 ทีมสุดท้ายให้ทุนหนุนพัฒนาโครงงานให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ชูเติบโตเป็นคนดี คนเก่ง มีคุณภาพ ช่วยพัฒนาชาติทั้งสังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
นางเกษร กำเหนิดเพ็ชร รองผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยและรักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.)โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยมีนโยบายขับเคลื่อนงานวัฒนธรรม เพื่อเสริมสร้างสังคมเข้มแข็งและสนับสนุนเศรษฐกิจวัฒนธรรมให้เติบโตอย่างยั่งยืนโดยมุ่งเสริมพลังสร้างสรรค์ให้ “คน” เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนวัฒนธรรมและสังคมโดยเฉพาะการบ่มเพาะคุณลักษณะของความสร้างสรรค์และเสริมสร้างต้นทุนชีวิตให้แก่เด็กและเยาวชนเพื่อให้มีความรักและได้รับการพัฒนาทักษะเฉพาะทางด้านศิลปวัฒนธรรมและมีความเข้าใจ เห็นคุณค่าในวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทำให้เติบโตเป็นคนดี คนเก่งและมีคุณภาพ ดังนั้น วธ.โดยสศร.จึงได้จัดโครงการพัฒนาศักยภาพศิลปินร่วมสมัย (เด็ก อวด + ดี) ขึ้น ซึ่งเป็นการดำเนินการปีแรก เพื่อค้นหาเด็ก เยาวชนที่มีความสามารถเป็นเลิศด้านศิลปะร่วมสมัยและโดดเด่นด้านคุณธรรม เพื่อสนับสนุนให้เป็นต้นแบบในการส่งต่อคุณธรรมและคุณลักษณะจิตอาสาสู่สังคมภายใต้แนวคิด “Good To Great : เปลี่ยนคนคิดได้ ให้เป็นคนคิดดี”
รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กล่าวว่า สศร.ได้เปิดรับสมัครและคัดเลือกทีมเด็กและเยาวชนเพื่อเข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพศิลปินร่วมสมัย (เด็ก อวด + ดี) ระหว่างเดือนมีนาคมจนถึงต้นเดือนเมษายน 2568 ซึ่งมีทีมเด็กและเยาวชนที่ผ่านการคัดเลือก 14 โครงงาน ได้แก่ 1.ทีมยัง (ยิง) เยาว์ มหาวิทยาลัยพะเยา 2.ชินตา มหาวิทยาลัยศรีปทุม 3.ทีม ArtedToy มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม 4. Youngอาสา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 5. Street Art DRU มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี 6.ทีมวิ่ง มหาวิทยาลัยรามคำแหง 7. ทีมศิลป์ธารา (Zin Tara) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ 8. ทีม Quintet มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี 9. ทีมโนว่าคอร์ ซิสเท็มส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมาคลอีสาน 10.ทีมคนไทยไปดวงจันทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร 11. ทีม" Flair Art for Youth " ศิลปะผสมผสานเพื่อชุมชน สาขาโลจิสติกส์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี 12. ทีมยายสิริ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน 13. ทีมลังกาสุกะ วิทยาลัยชุมชนปัตตานี 14. ทีม Art for Change ศิลป์เปลี่ยนโลก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะกรรมการโครงการฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะร่วมสมัย ได้แก่ นิมิตร พิพิธกุล ศิลปิน ศิลปาธรสาขาการแสดง ปี 2550 ประธานมูลนิธิหุ่นสายเสมาศิลปะเพื่อสังคม ผู้ก่อตั้งโรงละครชุมชน นางสาวสมลักษณ์ คล่องแคล่ว ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านงานส่งเสริมวิจิตรศิลป์ (ทัศนศิลป์) ผศ.ดร.วิสิทธิ์ โพธิวัฒน์ อาจารย์สาขาวิชาครีเอทีฟกราฟิก มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา นางสาวพรผกา คงกะพันธ์ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ และนางสาวนภารัตน์ ศรีวรรณวิทย์ ผู้ดูแลโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม การเติบโตสู่อนาคตที่ยั่งยืน ในเครือบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ร่วมพิจารณาโครงการที่สมัครเข้ารับการพิจารณาพร้อมทั้งให้แนวคิดและข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงและพัฒนาโครงงานแก่ทีมเด็กและเยาวชนทั้ง 14 ทีม หลังจากนั้นจะนำเด็กและเยาวชนทั้ง 14 ทีม เข้าค่าย OCAC MEE DEE Camp ในช่วงเดือนเมษายนนี้ ซึ่งเป็นการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับความรู้และพัฒนาศักยภาพด้านศิลปะร่วมสมัย รวมทั้งมีกิจกรรมปลูกฝังด้านคุณธรรม จริยธรรม สร้างจิตสำนึกที่ดีและจิตอาสาเพื่อร่วมสร้างสรรค์สังคม และจะคัดเลือกทีมเด็กและเยาวชนเหลือ 3 ทีมสุดท้าย โดยสศร.จะมอบทุนสนับสนุนการดำเนินโครงงานเพื่อมีการพัฒนาต่อยอดโครงงานด้านศิลปะร่วมสมัยทำให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมต่อไป
“สศร.จัดโครงการพัฒนาศักยภาพศิลปินร่วมสมัย (เด็ก อวด + ดี) ขึ้นเป็นปีแรก มีเป้าหมายมุ่งส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนเพื่อให้เป็นเยาวชนต้นแบบที่มีความสามารถด้านศิลปะร่วมสมัยควบคู่กับความมีคุณธรรม จริยธรรม มีจิตสำนึกที่ดีและจิตอาสา มีความพร้อมและรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมและโลก เพื่อเติบโตเป็นคนดี คนเก่งและมีคุณภาพ เป็นกำลังสำคัญของชาติและเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศทั้งด้านสังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน” นางเกษร กล่าว