เคลียร์ชัดทุกปัญหา วินิจฉัยตรงจุด ด้วยการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่

ระบบทางเดินอาหารมีการทำงานที่ซับซ้อนและอาจไม่แสดงอาการให้เห็นชัดเจนตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของโรค อาการต่าง ๆ ยังมีลักษณะคล้ายคลึงกัน ซึ่งเราไม่ควรมองข้าม ในการเริ่มต้นดูแลสุขภาพตั้งแต่เนิ่น ๆ  ยิ่งรู้เร็ว ยิ่งมีโอกาสป้องกันได้ ปัจจุบันมีหลากหลายวิธีในการตรวจคัดกรองขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค  ดังนั้นการป้องกัน คือ การตรวจพบให้เร็วที่สุด เพื่อหยุดโรคร้ายได้แต่เนิ่น ๆ

ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่โดยเฉพาะในผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งกระเพาะอาหาร หรือมีติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ เพราะจะมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป ปัจจุบันการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ด้วยกล้องที่มีขนาดเล็กเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร ยืดหยุ่น โค้งงอได้ ทำให้มีความปลอดภัย โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อย โดยระหว่างการตรวจจะมียาระงับความรู้สึกหรือบางรายอาจได้ยานอนหลับ เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลายและไม่กังวล

ศ.พญ. วโรชา มหาชัย ผู้อำนวยการคลินิกสุขภาพทางเดินอาหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก (BDMS Wellness Clinic) กล่าวว่า อาการที่สังเกตได้ว่าอาจมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับลำไส้คือ ปวดท้อง ท้องอืด แน่นท้อง หรือคลำก้อนได้ในท้อง อาเจียน ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน อุจจาระลำเล็กลง ถ่ายเป็นเม็ดกระสุน ท้องผูก หรือ ท้องเสียเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ มีปัญหาด้านการกลืน เช่น กลืนลำบาก กลืนติด กลืนแล้วเจ็บ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุรวมถึงการมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งกระเพาะอาหาร หรือมีติ่งเนื้อลำไส้ใหญ่ด้วย หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์ทำการตรวจ วินิจฉัยโรคโดยไวที่สุด

โดยในการส่องกล้องเพื่อวินิจฉัยโรคทางลำไส้ใหญ่หลักแล้วจะมีอยู่ 2 แบบ คือ การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น (Gastroscopy) ที่เป็นการใช้กล้องเอ็นโดสโคปที่มีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.9 เซนติเมตร ยืดหยุ่นโค้งงอได้ มีเลนส์กล้องและแสงไฟที่ปลายท่อ สอดเข้าทางปาก เพื่อตรวจหาความผิดปกติของหลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น โดยส่วนปลายของกล้องจะมีเลนส์ขยายภาพ ส่งภาพมายังจอมอนิเตอร์ ทำให้แพทย์เห็นภายในอวัยวะที่ตรวจได้อย่างตรงจุด จะช่วยการวินิจฉัยสาเหตุของอาการโรคทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง น้ำหนักลดผิดปกติ ขับถ่ายผิดปกติ ช่วยประเมินปัญหาความผิดปกติของก้อนเนื้อซึ่งกล้องแสดงให้เห็นลักษณะของก้อนเนื้อ แผลในลำไส้ที่ผิดปกติ หรือการอักเสบได้ และ การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ที่เป็นการใช้กล้อง Colonoscope เป็นท่อขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร ความยาวประมาณ 150 เซนติเมตร ยืดหยุ่น โค้งงอได้ โดยจะสอดกล้องเข้าทางทวารหนักอย่างช้า ๆ เข้าถึงส่วนของลำไส้ใหญ่ตอนต้น เพื่อตรวจหาความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก สามารถวินิจฉัยโรคของลำไส้ได้อย่างตรงจุด โดยคนไข้จะไม่รู้สึกเจ็บ มีความปลอดภัย ใช้เวลาตรวจประมาณ 20-30 นาที หรือขึ้นอยู่กับความยาวลำไส้ใหญ่ของคนไข้ ช่วยในการตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่และในการรักษาก้อนเนื้องอกแบบที่ไม่ใช่มะเร็ง (polyps) ที่เจริญเติบโตขึ้นที่บริเวณผนังลำไส้ใหญ่ เพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นมะเร็ง อีกทั้งสามารถตัดติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ได้โดยไม่ต้องผ่าตัด และสามารถตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาได้ทันที

ก่อนเข้ารับการตรวจ 1 วัน คนไข้ควรรับประทานอาหารอ่อน ๆ ที่ไม่มีกากใย เช่น ซุป อาหารอ่อน หรือโจ๊ก น้ำผลไม้ชนิดใส เป็นต้น และก่อนเข้ารับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ควรต้องทำความสะอาดเพื่อให้แพทย์เห็นภาพได้ชัดเจน โดยทานยาระบาย ซึ่งควรทำในคืนก่อนเข้ารับการตรวจส่องกล้อง ในกรณีที่คนไข้มีโรคประจำตัวและยาที่ต้องใช้เป็นประจำควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาการหยุดยาบางตัวที่มีผลต่อการส่องกล้องก่อน งดอาหารและน้ำอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนตรวจ (งดอาหารและน้ำหลังเที่ยงคืน หลังการตรวจส่องกล้อง คนไข้ควรนอนพัก 1-2 ชั่วโมงก่อนกลับบ้าน เพื่อสังเกตอาการ อาจมีอาการอึดอัดท้อง ท้องอืด เนื่องจากมีลม อาการจะทุเลาลงหลังการตรวจ และไม่ควรขับรถกลับบ้านเอง ต้องมีผู้ดูแลอยู่ด้วยเสมอ เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงจากการได้รับยาระงับความรู้สึก หรือยานอนหลับได้

แต่สุดท้ายแล้ว สิ่งที่ดีที่สุดคือป้องการความเสี่ยงและการเกิดโรคตั้งแต่เริ่มต้น คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเราเอง พยายามเลี่ยงอาหารไขมันสูง เนื้อแดง อาหารที่ผ่านกรรมวิธีแปรรูป เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การรับประทานผักและผลไม้ในทุกมื้ออาหาร รวมถึงการพักผ่อนที่เพียงพอในแต่ละวัน ก็จะทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

Post a Comment (0)
Previous Post Next Post